วันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2561

ร.ศ. 112

มีบันทึกไว้ว่าพุทธศักราช 2436 ..เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5)
ทรงมีพระชนม์ได้ 40 พรรษา ทรงประชวรหนักถึง 2 ครั้ง..สาเหตุการประชวรทั้ง 2 ครั้ง  ก็เนื่องจากทรงกังวลและ
ตรอมพระทัย เพราะการรุกรานของประเทศฝรั่งเศส จนไทยต้องสูญเสียดินแดนไปมาก...ทรงเสียพระทัยและทรง
ห่วงว่า จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ที่ไม่สามารถรักษาบ้านเมืองให้พ้นจากภัยอันตรายได้
 
ในปีนั้นวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสส่งเรือรบ 2 ลำ คือ เรือแองคองสตังค์ เรือปืนโคเมท์และเรือนำร่องเยเบเซ อีก 1 ลำ มาถึงสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา ฝ่ายไทยก็พยายามต่อสู้โดยยิงปืนจากป้อมพระจุลจอมเกล้า และส่งเรือรบหลายลำติดตามแต่สู้ไม่ได้ ทหารตายไป 7 นาย บาดเจ็บอีก 40 นาย ตกน้ำสูญหายไปอีก 1 นาย และเรียกเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่าวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112  (พ.ศ. 2436)
ในวันที่ 13 กรกฏาคม ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) เรือรบฝรั่งเศสก็ได้ชัยชนะ รุกผ่านเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาและไปเทียบท่าอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ  และได้หันปืนใหญ่น้อยบนเรือทั้งหมดเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง โดยฝรั่งเศสได้ยื่นคำขาดแก่รัฐบาลไทย มีอยู่ข้อหนึ่งที่ไทยต้องจ่ายเงิน 3 ล้านฟรังก์ โดยชำระเป็นเงินเหรียญทันทีเป็นการชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ โดยกำหนดภายใน 48 ชั่วโมง มิฉะนั้นกองทัพเรือฝรั่งเศสจะปิดอ่าวไทยทันที และสั่งทูตฝรั่งเศสออกจากไทย โดยไทยอาจตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสได้ และผลของวิกฤตการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ฝ่ายไทยจำต้องยอมยกดินแดนลาวฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส นับเป็นการขยาย

อิทธิพลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของฝรั่งเศสในภูมิภาคอินโดจีน และจะนำไปสู่การสูญเสียดินแดนประเทศราชของไทยในเขมรและลาวที่เหลืออยู่ในเวลาต่อมาอีกด้วย ในต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5) นั้น ไทยมีอาณาเขตกว่า 1 ล้านตารางกิโลเมตร ต้องยกดินแดน ให้กับฝรั่งเศส
รวมเนื้อที่กว่า 467,000 ตารางกิโลเมตร ดังลำดับการเสียดินแดนถึง 5 ครั้ง ให้กับฝรั่งเศส ดังนี้
1. เสียแผ่นดินเขมร 124,000 ตารางกิโลเมตร
2. เสียสิบสองจุไทย 87,000 ตารางกิโลเมตร
3. เสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง 143,000 ตารางกิโลเมตร
4. เสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ตรงข้ามหลวงพระบางและปากเซ 62,000 ตารางกิโลเมตร
5. เสียเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ 51,000 ตารางกิโลเมตร

ปรากฏพระราชนิพนธ์โคลง ทรงมีพระราชปรารภความทุกข์สุขไว้ 7 บท และลงท้ายเป็นคำฉันท์ว่า...ทรงเกรงว่าจะ
เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทำให้เสียกรุง ดังความตอนหนึ่งว่า...

เจ็บนานนึกหน่ายนิตย์......มนะเรื่องบำรุงกาย
ส่วนจิตบมีสบาย.............ศิระกลุ้มอุราตรึง
แม้หายก็พลันยาก...........จะลำบากฤทัยพึง
ตริแต่จะถูกรึง.................อุระรัดและอัตรา
กลัวเป็นทวิราช...............บ ตริป้องอยุธยา
เสียเมืองจะนินทา...........จึงจะอุดและเลยสูญฯ

เมื่อทรงพระประชวร และทรงท้อแท้ถึงเพียงนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงได้ทรงนิพนธ์ฉันท์ขึ้นถวาย เพื่อให้ทรงนึกถึงความสำคัญของพระองค์เองที่มีต่อประเทศชาติและชาวไทย ความบางบทว่า 

ถ้าจะว่าบรรดากิจ............ก็ไม่ผิด ณ นิยม
เรือแล่นทะเลลม.............จะเปรียบต่อก็พอกัน
ธรรมดามหาสมุทร...........มีคราวหยุดพายุผัน
มีคราวสลาตัน................ตั้งระลอกกระฉอกฉาน
ผิวพอกำลังเรือ...............ก็แล่นรอดไม้ร้าวราน
หากกรรมจะบันดาล.........ก็คงล่มทุกลำไป
ชาวเรือก็ย่อมรู้................ฉะนี้อยู่ทุกจิตใจ
แต่ลอยอยู่ตราบใด...........ต้องจำแก้ด้วยแรงระดม
แก้รอดตลอดฝั่ง..............จะรอดทั้งจะชื่นชม
เหลือแก้ก็จะจม...............ให้ปรากฏว่าถึงกรรม
ผิดทอดธุระนั่ง.................บ วุ่นวิ่งเยียวยาทำ
ที่สุดก็สูญลำ...................เหมือนที่แก้ไม่หวาดไหว
ผิดกันแต่ถ้าแก้................ให้เต็มแย่จึงจมไป
ใครห่อนประมาทใจ...........ว่าขลาดเขลาและเมาเมิน
เสียทีก็มีชื่อ....................ได้เลื่องลือสรรเสริญ
สงสารว่ากรรมเกิน............กำลังดอกจึงจมสูญฯ

เชื่อกันว่าพระนิพนธ์นี้. ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5) ทรงเปลี่ยนพระทัยและเริ่มเสวยพระกระยาหารดังเดิม จนทรงหายประชวร และออกว่าราชการดังเดิมได้  


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5) เสด็จพระราชดำเนิน
มายังป้อมพระจุลจอมเกล้า








 ป้อมพระจุลจอมเกล้า

 ปืนเสือหมอบ ภายในป้อมพระจุลจอมเกล้า

 แผนที่แสดงอาณาเขตของประเทศไทย...แสดงดินแดนที่สูญเสียไปในยุคล่าอาณานิคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประวัติความเป็นมา Human Tower

ที่มา อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ตามประเพณี Muixernga ของAlgemesíในวาเลนเซียประเพณีของคาเทโลเนียในคาเทโลเนียเกิดขึ้นในบอล dels วาเลนเซีย (เชียน...